อ.เจษฎาเตือน! สารเคมีจากเคสมือถือกลิตเตอร์อาจเสี่ยงผิวหนังไหม้-พุพอง
เคสโทรศัพท์มือถือชนิดที่สามารถใส่ของเหลว ทั้งแบบมีสีและไม่มีสี ผสมกลิตเตอร์ หรือกากเพชรวิววับ เป็นที่นิยมในหมู่คนไทย และชาวต่างชาติมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่เห็นทีจะไม่ปลอดภัย 100% เมื่อมีรายงานข่าวจากต่างประเทศว่า เด็กหญิง 9 ขวบ เกิดเหตุของเหลวจากเคสโทรศัพท์มือถือรั่วไหล สัมผัสบนผิวหนังขณะนอนหลับทับเคส ตื่นเช้ามาพบรอยไหม้ และพุพอง
นอกจากนี้ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเตือนว่าหากผิวหนังสัมผัสของเหลวภายในเคสมือถือ ให้รีบล้างออกด้วยน้ำเปล่ามากๆ เพื่อป้องกันผิวหนังพุพองจากสารเคมี
__________
"ระวังอันตรายจากสารเคมี ในเคสมือถือ กลิตเตอร์
ปรกติผมไม่ค่อยชอบโพสต์แบบเตือนภัยอันตรายต่างๆ เพราะเดี๋ยวนี้กลัวว่าพลังของโซเชียลมันจะทำให้สังคมแตกตื่นเกินไป แต่เรื่องนี้เห็นว่ายังไม่ค่อยเป็นที่ตระหนักกัน จึงขอยกขึ้นมาหน่อยเถอะ
ทางรายการ "ทุกข์ชาวบ้านสุดสัปดาห์" ช่อง TNN24 ได้มาขอสัมภาษณ์จากกรณีข่าวที่มีเด็กหญิงวัยแค่ 9 ปี นอนทับเคสโทรศัพท์มือแบบที่มีของเหลวใสใส่ตัวกลิตเตอร์สะท้อนแสงวาวๆ อยู่ด้านหลัง (http://www.mirror.co.uk/…/uk-news/girl-9-left-iphone-shaped…) แล้วตื่นเช้ามา เกิดเป็นรอยแผลไหม้สารเคมีพุพอง ... เรื่องนี้จริงเท็จเป็นเช่นไร
จากการเช็คกูเกิ้ล แม้ว่าจะยังไม่เคยมีรายงานอันตรายลักษณะนี้ในไทย แต่ในต่างประเทศมีคนเจอแล้วหลายราย ทั้งในอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ จนเชื่อได้ว่าน่าจะเรื่องจริง ที่สำคัญที่ ไม่มีการเขียนเตือนไว้เลยที่กล่องสินค้า ว่าให้ระวังอันตรายจากสารเคมี
แม้ว่าจะไม่ทราบว่าสารเคมีข้างในนั้นคืออะไร (สงสัยต้องขอให้ อ.อ๊อด Weerachai Phutdhawong ช่วยตรวจดู) แต่เท่าที่ลองซื้อมาจากร้านค้าทั่วไป แล้วเจาะเอามาทดสอบง่ายๆ พบว่า ของเหลวในนั้น มันมีกลิ่นฉุนรุนแรง นิ้วแตะๆ ดูแล้วรู้สึกร้อน ลองเอาไปเทราดเนื้อไก่ไว้ พบว่าเนื้อไก่เปื่อยยุ่ยใน 10 นาที (เสียดายว่าวัดพีเอชด้วยกระดาษอินดิเคเตอร์ ไม่พบว่าเป็นกรดหรือด่างเข้มข้น) จึงน่าจะฟันธงได้ว่า มันเป็นสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายได้จริงๆ ถ้ารั่วซึมออกมา
ดังนั้น การใช้เคสมือถือกลิตเตอร์แบบนี้จึงควรระวังเป็นอย่างมาก อย่าไปทำให้มันแตกรั่วซึม ถ้าสัมผัสร่างกาย ให้ล้างออกด้วยน้ำเปล่าเยอะๆๆ
ที่ขอเรียกร้องอีกอย่างคือ ผู้ประกอบการเอง ก็ควรจะเขียนคำเตือนไว้ให้ชัดเจนบนกล่องสินค้าด้วย (เท่าที่เช็คกัน แม้แต่ยี่ห้อแพงๆ ก็ไม่เขียนคำเตือน)”
__________
"ระวังอันตรายจากสารเคมี ในเคสมือถือ กลิตเตอร์"ปรกติผมไม่ค่อยชอบโพสต์แบบเตือนภัยอันตรายต่างๆ เพราะเดี๋ยวนี้กลัวว่าพลังข...Posted by Jessada Denduangboripant on Tuesday, February 23, 2016
อัพเดต! (4/3/16) รองศาสตราจารย์ ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการทดสอบของเหลวในเคสมือถือ พบว่าเป็นสาร n-Decane หรือเรียกสั้นๆว่า "เด็คเคน (Decane)" ปกติเป็นสารชะล้างในโรงงานอุตสาหกรรมล้างไขมัน เช่น ล้างแผงวงจรอิเล็กโทรนิค เป็นตัวทำละลายในปิโตรเคมี และในห้องปฏิบัติการเคมี ดังนั้นเมื่อผิวหนังของคนเรามีไขมันเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย จึงเห็นแผลเปื่อยๆ จากการปฏิกิริยากับสารเด็คเคนได้ แต่กว่าสารจะออกฤทธิ์กับผิวหนัง ต้องสัมผัสกับสารนั้นนานๆ อย่างน้อย 15 นาที ดังนั้นหากสัมผัสสารดังกล่าว ควรรีบล้างน้ำสะอาดนานๆ เพื่อกำจัดสารนั้นออกไปจากผิวหนังให้เร็วที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น